ทำความเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ เบื้องต้น
เมื่อทำไว้ในใจว่าต่อไปนี้ครูสอนกรรมฐานของฉันคือพระพุทธเจ้า การอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรของฉันก็ไม่ใช่แค่สักแต่ดูเล่นว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง แต่เป็นการน้อมรับฟังว่าพระพุทธเจ้าสั่งให้ทำอะไรบ้าง จิตที่เต็มไปด้วยความเคารพทำให้การศึกษามหาสติปัฏฐานสูตรแยกเป็น ๒ ระดับ โดยสมองทำงานแยกกันเป็นอิสระ คือ
๑) รับฟังและจดจำใส่เกล้าอย่างไม่มีเงื่อนไข กระทำสมองเป็นกระบะรับพุทธพจน์ทุกถ้อยทุกคำ ทรงจำไว้อย่างแม่นยำยิ่งกว่าอ่านตำราทำข้อสอบใดๆทั้งหมดในชีวิต ชนิดที่ถ้าใครถามตรงไหน ฉันตอบได้หมด ลงรายละเอียดได้เป็นคำๆไม่มีพลาด
๒) ตั้งคำถามหาเหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงซอยกายใจออกเป็น ๔ หมวดคือกาย เวทนา จิต ธรรม ตามลำดับ เพื่อความเข้าใจว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ทำถึงไหนแล้วควรต่ออย่างไร
ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ฉันสรุปไว้แบบขึ้นใจในระดับของการศึกษาด้วยสมอง ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง
หมวดกาย
สมมุติว่าฉันไม่รู้จักสติปัฏฐาน ๔ มาก่อน แล้วตั้งคำถามกับตนเองว่าระหว่างกายกับใจ อันไหนดูง่ายกว่ากัน? แน่นอนฉันต้องตอบว่ากาย เพราะกายเป็นฝ่ายรูปธรรมอันจับต้องได้ว่ารูปทรงสัณฐานเรียว รี กลม หรืออ้วนผอมประมาณใด ต่างจากใจที่เป็นฝ่ายนามธรรม กำหนดรู้ได้ด้วยใจเองเท่านั้น เริ่มต้นขึ้นมาจิตที่เต็มไปด้วยความมัวมนจะแสดงอะไรนอกจากภาวะหม่นมืด ฟุ้งซ่าน หาความสงบไม่ได้ มองเข้าไปกี่ทีก็เจอแต่พายุความคิด เป็นพายุลูกย่อมบ้าง ลูกใหญ่บ้าง ประสาคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่รู้จะดูให้เห็นความเกิดดับได้อย่างไรเลย
เมื่อเลือกได้ว่ากายกำหนดง่ายกว่าใจ คราวนี้ฉันก็ตั้งโจทย์อีกว่ามีส่วนไหนในกายที่สามารถล่อให้จิตเรารับรู้ได้ง่ายที่สุด เห็นความเกิดดับเร็วที่สุด กับทั้งสามารถใช้เป็นที่ตั้งของสติได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย?
คิดแค่พริบตาเดียวทุกคนก็ต้องตอบได้ ลมหายใจนั่นเอง ลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงจัดให้เป็นฝ่ายรูปธรรม และทรงกำหนดให้เป็นบันไดขั้นแรก เป็นสภาพธรรมหลักในตัวเราที่ควรเฝ้าดูอยู่เสมอๆ
ฉันเล็งเห็นความจริงข้อนี้ ที่ผ่านๆมาจึงได้เพียรพยายามหาแนวทางกำหนดรู้ลมหายใจด้วยวิธีนับลมบ้าง ใช้คำบริกรรมกำกับบ้าง เพ่งดูเฉพาะผัสสะกระทบระหว่างลมกับโพรงจมูกบ้าง แต่อาจยังทำไม่ถูกอะไรสักอย่าง จึงไม่เคยประสพความสำเร็จจริงๆจังๆต่อเนื่องสักที อย่างมากที่สุดบางวันก็มีความสุขสบาย หรือเหมือนลมหายใจแผ่วอ่อนจนขาดไป ส่วนใหญ่จะหลับหรือฟุ้งซ่านมึนงงมากกว่าอย่างอื่น
รอบนี้เมื่อตั้งใจรับฟังแต่พระบรมครูคนเดียว จึงเกิดมุมมองใหม่ว่าความจริงท่านเป็นเจ้าแห่งอุบายภาวนามือวางอันดับหนึ่งของโลก และท่านก็ไม่เคยบอกให้นับลมหรือว่าใช้คำบริกรรมกำกับ รวมทั้งไม่เคยแสดงอุปเท่ห์พิสดารในแบบที่จะออกไปทางศาสตร์ด้านพลังปราณอันใด ท่านสอนธรรมดาๆ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ เน้นความรู้ ความสังเกตตามจริงเป็นสำคัญ อันนี้นึกดีๆแล้วฉันไม่เคยลองทำดูจริงจังเหมือนอย่างอุบายอื่นๆที่ผ่านมาตลอดเลยสักครั้ง น่าทดลองเหมือนกันว่าถ้าเอาจริงแล้วจะเกิดผลเช่นไร ประสพความสำเร็จหรือจะล้มเหลวไม่เป็นท่าเหมือนเช่นที่ผ่านมา อันนี้ต้องคอยดูกัน
สรุปว่าหมวดกายฉันจะเริ่มด้วยการตามรู้ลมหายใจ เมื่อประสพความสำเร็จในการรู้ลมหายใจได้แล้วค่อยดูต่อว่ามีอะไรให้ทำในหมวดกายอีก
หมวดเวทนา
เมื่ออาศัยลมหายใจเป็นทางรู้กายว่าไม่เที่ยงได้แล้ว หากถามตัวเองว่าจะขยับต่อไปให้ก้าวล่วงเข้ามารู้ในขอบเขตของใจบ้าง ควรจะทำอย่างไร? อันนี้ถ้าให้ตั้งโจทย์ถามตัวเอง ก็จะได้คำตอบว่านามธรรมอันเป็นภาวะทางใจที่ดูง่ายสุด น่าจะเป็นสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับกายนั่นเอง
บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวที่สุด หรือกระทั่งประชิดติดตัวที่สุด ก็คือสิ่งที่เรามองผ่าน และไม่เคยสังเกตอย่างที่สุด เช่นเมื่อทอดร่างลงนอนเหยียดยาว เราจะบอกตัวเองว่าสบายจัง แต่ไม่สังเกตว่าภาวะสบายจังนั้นเกิดขึ้นช้านานเพียงใด แปรปรวนไปเป็นอึดอัดเมื่อยขบ เกร็งต้นคอหรือแผ่นหลังให้ต้องพลิกขยับเป็นอื่นตั้งแต่เมื่อไหร่
ความรู้สึกสบายหรืออึดอัดทางกายนั่นแหละ ครึ่งๆอยู่ระหว่างกายกับใจ
ตามนิยามนั้น เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย หากดูนิยามของสุข ก็คือความสบายกายหรือสบายใจ หากสบายกายก็เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางกาย หากสบายใจก็เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางใจ ส่วนความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์นั้น เบื้องต้นอาจเหมาให้เป็นสุขไปพลางๆก่อนก็ได้ เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ
ฉะนั้นในมุมมองของการตั้งสติกำหนดจริง ที่แท้ก็คือดูความอึดอัดหรือสบายนั่นเอง จะอยู่ท่าไหน จิตใจจดจ่ออยู่กับอะไร แม้ขณะปัจจุบันนี้ วินาทีนี้ก็ต้องมีอาการปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสบายกับไม่สบายกันทุกคน
แต่ฉันพิจารณาแล้วว่าถ้าจิตกำลังคลุมเครือ คิดฟุ้งซ่านอยู่ จะดูไม่ออกว่าเวทนาเป็นอย่างไร เมื่อใดเวทนาหนึ่งๆเกิดขึ้น เมื่อใดเวทนานั้นๆเปลี่ยนไป โจทย์คือทำอย่างไรจะออกจากจุดเริ่มต้นได้ถูกโดยไม่สับสน และไม่หลงสติเห็นเวทนาแบบเลอะๆเลือนๆ
ตรงนี้ก็ปะติดปะต่อกันได้พอดีกับการฝึกในหมวดกายที่ผ่านมา ถ้าหากสามารถรู้ลมหายใจได้ชัดเจนต่อเนื่อง ผลทางกายย่อมเป็นสุขนาน คือสบายกายแบบสดชื่นตอนลากลมหายใจเข้า สบายกายแบบผ่อนคลายตอนระบายลมหายใจออก
และเมื่อกายเป็นสุข ใจย่อมสงบ อาการสงบระงับความฟุ้งซ่านนั้นเองคือสุขเวทนาทางใจ เมื่อแยกออกว่าความสุขทางกายกับความสุขทางใจแตกต่างกันอย่างไร ฉันก็เชื่อว่าจะเป็นเส้นทางเข้าถึงภาวะอันเป็นนามธรรมหยาบละเอียดได้ตามลำดับ เมื่อเห็นครบทั้งหยาบและละเอียด จิตย่อมปล่อยวางทั้งในระดับตื้นและในระดับลึก
สรุปคือฉันวางแผนจะเริ่มดูลมหายใจจนเป็นสุขทางกายได้ แล้วค่อยขยับมาดูสุขทางใจ น่าจะสอดคล้องกันกับที่พระพุทธองค์ทรงแยกเวทนาไว้สองชนิด คือเวทนาทางกาย กับเวทนาทางใจ และในสติปัฏฐานพระองค์ให้ดูโดยเปรียบเทียบเวทนาเป็นอย่างๆก่อน พอยกสติเข้าไปรู้ เข้าไปดู เข้าไปเห็นแล้วว่าหน้าตาเวทนาเป็นอย่างไรก็ค่อยดูเวทนานั้นๆโดยความเป็นของเกิดดับในภายหลัง
หมวดจิต
เมื่อแน่ใจว่ารู้สุขทางใจได้ชัดแล้ว หากถามตัวเองว่าจะเข้าถึงความรู้จักจิตตัวเองได้อย่างไร คราวนี้คงง่ายขึ้น เพราะหากรู้สุขทางใจได้นาน ก็แปลว่าจิตต้องมีความสงบราบคาบพอสมควร เมื่อจิตเป็นสุขจากการเสวยวิเวก ภาวะพอใจสงบย่อมปรากฏเด่น และถูกรู้ได้ในตัวเองว่าลักษณะหน้าตาของอาการสงบใจเป็นอย่างไร
จากประสบการณ์ปฏิบัติแบบตามมีตามเกิดที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ฉันพบว่าถ้าวันไหนทำสมาธิจนสงบสุขได้ ก็จะเหมือนเห็นจิตตัวเองในอีกแบบหนึ่ง คือปรากฏภาวะไม่มีหูไม่มีตา ไม่มีแขนไม่มีตัว มีแต่ดวงความรู้ดวงหนึ่งปรากฏสภาพคงที่อยู่เฉยๆ ภาวะนั้นทำให้รู้สึกภูมิใจและยึดมั่นว่าตัวเองทำได้ ทั้งที่เกิดขึ้นน้อยชนิดนานทีปีหน แต่ฉันก็ยังเอาไปคุยกับใครต่อใครอยู่เรื่อยว่าฉันทำได้ ราวกับว่าเกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน
พอมาศึกษาสติปัฏฐานในหมวดของจิต เห็นพระพุทธเจ้าท่านให้เทียบจิตเป็นอย่างๆ เอาคู่ตรงข้ามมาเป็นเครื่องเทียบเคียง เพื่อให้เห็นว่าจิตแบบหนึ่งๆต้องเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามเสมอ ฉันก็เกิดอาการย้อนพิจารณา เห็นว่าที่ผ่านมาเมื่อนิ่งแล้วก็ไปยึดความนิ่งเป็นของดี ของน่าภูมิใจ แท้จริงแล้วเป็นเครื่องหมักดองหรือเพิ่มพูนกิเลสได้อย่างหนึ่ง หาใช่สมาธิที่ถูกทางครบพร้อมแต่อย่างใด ตราบใดไม่มีสติรู้เพื่อปล่อยวาง ตราบนั้นยังไม่เข้าทางมรรคผล ต่อให้ทำอะไรได้ดีเลิศปานใดก็ตาม
ฉันทบทวนดูแล้วตาสว่าง และคิดจะใช้ความสุขทางใจนั่นเองเป็นตัวกรุยทางเข้าไปรู้เข้าไปดูสภาพทางจิต กล่าวคือเมื่อสุขนานพอ จิตย่อมปรากฏชัดโดยความเป็นของนิ่ง เมื่อจิตเคลื่อนจากความนิ่ง ก็ค่อยเปรียบเทียบเอาว่าจิตที่ไม่นิ่งนั้นแตกต่างจากภาวะนิ่งอย่างไร
หลังจากทบทวนพิจารณาหมวดจิตที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้ ฉันได้ข้อสรุปว่าตัวความสงบเป็นเพียงอาการหนึ่งของจิต ผิดจากสามัญสำนึกของนักภาวนามือใหม่ ที่มักเข้าใจว่าถ้าสงบลงได้นานพอ แปลว่าเข้าถึงสภาพจิตเป็นดวงๆอย่างแท้จริง ตามที่ถูกแล้วจิตมีหลายแบบ และเราควรรู้ทุกแบบ
ฉันถามตัวเองว่าถ้าอยู่ในชีวิตประจำวันเราจะเห็นจิตได้อย่างไร? ก็ได้คำตอบที่พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วตั้งแต่ตอนต้นของหมวดจิต นั่นคือเมื่อเกิดราคะ ให้รู้ว่าจิตมีราคะ หากรู้ว่าจิตมีราคะโดยไม่หมกมุ่นครุ่นคิดจินตนาการต่อ ราคะย่อมหายไป นั่นเองพระพุทธองค์ก็ให้รู้ต่อว่าจิตไม่มีราคะนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับขณะที่จิตมีราคะแล้วต่างกันแค่ไหน อาจจะในแง่ของแรงดึงดูดเข้าหาวัตถุกาม หรืออาจจะในแง่ของปฏิกิริยาทางกายที่เกี่ยวเนื่องกันกับจิตก็ได้
ทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดโทสะก็ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตไม่มีโทสะก็ให้รู้โดยเปรียบเทียบเอาว่าความร้อนกายร้อนใจ หรืออาการเค้นแน่นจุกอก หรือความเสียดแทงในหัว ตอนมีกับตอนไม่มีแตกต่างกันอย่างไรก็รู้ตามจริง
เมื่อใช้ชีวิตตามปกติ ฉันเคยสังเกตอยู่ว่าตัวเองว่าจิตจะอยู่ในสภาพเหม่อลอยบ่อยๆ คือหลงคิดหลงสร้างวิมานในอากาศไปเรื่อย ถึงแม้ไม่สร้างวิมานในอากาศก็จะปล่อยให้จิตพักผ่อนตามถนัด นั่งนอนทอดหุ่ยไปเรื่อย ต่อเมื่อมีงานต้องทำ หรือมีใครเข้ามาหา สติจึงค่อยยกขึ้นไปรู้วัตถุหรือบุคคลอันเป็นเครื่องกระทบ นี่ก็น่าจะเป็นสภาพธรรมที่คอยตามเปรียบเทียบดูได้ว่าต่างกันอย่างไร กล่าวคือถ้าทอดหุ่ยหรือเหม่อลอยสร้างวิมานในอากาศ เมื่อนึกได้ฉันจะสำรวจดูว่าจิตในสภาพลอยๆนั้นมีลักษณะอย่างไร แตกต่างจากจิตขณะมีสติยกขึ้นตั้งแล้วแค่ไหน นั่นเองเป็นการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าให้เทียบเคียง จิตมีโมหะก็รู้ จิตไม่มีโมหะก็รู้
สรุปคือฉันจะเริ่มสำเหนียกถึงลักษณะอาการของจิต ไม่สำคัญมั่นหมายว่าจิตมีภาวะใดภาวะหนึ่งตายตัว เริ่มต้นจะดูจากภาวะที่ง่ายที่สุด คือภาวะจิตสงบนิ่ง จากนั้นค่อยๆเทียบเคียงไปเรื่อยๆว่าจิตในชีวิตประจำวันแตกต่างจากจิตสงบมากน้อยแค่ไหน และที่ต่างนั้นกระเดียดไปในทางราคะ โทสะ หรือโมหะ
หมวดธรรม
หมวดนี้ฉันไม่อาจคิดเองได้ และในระดับที่ยังนึกๆคิดๆ จิตไม่ตั้งมั่นในตอนนี้ ฉันไม่สามารถเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีหมวดสุดท้ายในสติปัฏฐาน ๔ ทุกอย่างผูกกันตามลำดับหรือกระจายเป็นเอกเทศก็ไม่ทราบ
ฉันต้องใช้วิธีอ่านแบบตั้งข้อสังเกตอย่างละเอียด แล้วพบความจริงอย่างหนึ่ง คือถ้ามองในแง่ความยากง่าย ต้องบอกว่าหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตนั้นน่าจะเป็นพื้นฐานที่ง่ายกว่าหมวดธรรม วัดจากเนื้อหาก็ได้ ส่วนหนึ่งของกายคือลมหายใจ ใครๆก็รู้ ส่วนหนึ่งของเวทนาคือสุข ทุกข์ เฉย อย่างนี้ใครๆก็รู้ ส่วนหนึ่งของจิตคือภาวะมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน หรือสงบ อย่างนี้ใครๆก็รู้ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถรู้ได้โดยความเป็นของเทียบเคียงกัน
แต่สำหรับหมวดธรรมจะไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เทียบเคียง แต่จะให้รู้สภาวะหนึ่งๆโดยความเป็นของเกิดขึ้นและดับลงตรงๆ หรือไม่ก็ให้ดูว่าขณะหนึ่งๆที่รับผัสสะกระทบเข้ามานั้น ปฏิกิริยาทางใจออกไปในทางทะยานเข้ายึดหรือว่าสักแต่รู้แล้ววางเฉยเสมอกับอารมณ์
นอกจากนั้นยังมีเรื่องละเอียด พระพุทธองค์รวมเอาข้อธรรมชั้นสูงมาให้พิจารณากันที่หมวดธรรมนี่เอง เพราะฉะนั้นฉันจึงสรุปว่าเมื่ออบรมหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงมากพอ จิตมีความตั้งมั่นเอาตัวรอดจากการครอบงำหยาบๆทั้งหลายในโลกได้แล้ว สติจึงคมชัดมากพอจะสามารถปฏิบัติในหมวดธรรม
สรุปคือในขั้นนี้ตอนนี้ฉันยังไม่อาจวางแผนอะไรได้ เข้าใจว่าถึงจุดที่อิ่มตัวในหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตพอสมควรแล้ว คงรู้เองว่าจะก้าวรุกคืบเพื่อชิงชัยกับกิเลสด้วยหมวดธรรมได้อย่างไร
ความตั้งใจสำรวจและประเมินตนเอง
ด้วยความที่เคยผ่านการปฏิบัติแบบงูๆปลาๆจับฉ่ายมานับปี ทำให้ฉันได้ข้อคิดอย่างหนึ่งคือถ้าขาดการสำรวจตนเอง เราจะย่ำซ้ำอยู่กับที่ จิตพัฒนาขึ้นแล้วตกต่ำลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่รู้สึกตัวเองเลยว่าเดินทางมาถึงไหนกันแน่ พอผ่านเดือนผ่านปียังไปไม่ถึงไหนก็โทษส่งว่าเป็นเพราะบุญน้อยหรือวาสนาต่ำ มองข้างหน้าด้วยความหมดหวัง หรือหวังได้แค่รางเลือนว่าชาตินี้จะคว้ามรรคคว้าผลกับเขาได้
เมื่อเกิดแรงฮึดรอบใหม่คราวนี้ ที่อธิษฐานขออาราธนาพระพุทธเจ้าเป็นครูสอน ฉันเกิดกำลังใจอย่างมหาศาล และคิดแบบนักศึกษาในโลกใหม่ว่าฉันควรมีเกณฑ์การตรวจสอบที่ชัดเจนว่าคืบหน้าคืบหลังไปถึงไหน ฉันไม่อยากทำไปดุ่ยๆแบบไม่รู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหน และเฝ้าถามตนเองแล้วๆเล่าๆว่าเมื่อใดมรรคผลจะมาถึงเสียที โดยไม่มีกรอบมีเกณฑ์ที่แน่ชัดอีกต่อไป
หลักในการประเมินความคืบหน้า
ในเมื่อฉันจะปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์สั่งให้ทำ เพราะฉะนั้นฉันก็ตัดสินใจได้ว่าจะถือเอาลำดับขั้นของสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองเป็นตัวบอกระดับหยาบละเอียดของสติ อย่างที่ฉันพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่าหมวดต่างๆคือกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น มีความหยาบละเอียดตามลำดับ หากจิตของฉันมีความสามารถรู้ชัดในหมวดไหนเป็นปกติ ก็จะถือว่าสติพัฒนามาถึงขั้นนั้น ประเภทรู้แวบๆไม่เอา เอาแบบที่สติทรงอยู่กับฐานหนึ่งๆชัดอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น
หลักในการตรวจสอบทิศทาง
ฉันหาอ่านสูตรต่างๆที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทิศทางเดินจิตของตนเองว่ากำลังมุ่งไปสู่มรรคผลหรือไม่ อ่านเป็นนานสองนานกว่าจะย้อนกลับมาพบว่าคำตอบมีอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่แล้ว นั่นคือ โพชฌงค์ ๗ คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือพูดง่ายๆว่าถ้าปฏิบัติไปแล้วจิตมีลักษณะ ๗ ประการเป็นองค์ประกอบพร้อมอยู่ ก็แปลว่าอาจเกิดมรรคผลขึ้นในขณะใดขณะหนึ่งก็ได้
ที่มองข้ามไปแต่แรกก็เพราะมัวนึกว่าโพชฌงค์ ๗ อยู่ในหมวดธรรม ซึ่งนับว่าเป็นขั้นของการปฏิบัติระดับสูง ต่อเมื่อมาเจอโพชฌงคสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสติรู้ลมหายใจกับโพชฌงค์ ๗ ความเข้าใจที่ผิดพลาดจึงถูกแก้ไขใหม่ สรุปง่ายๆ ณ จุดเริ่มต้นนี้ก่อนว่าโพชฌงค์ ๗ เป็นสิ่งที่เจริญขึ้นได้แม้ในขั้นตอนของการกำหนดสติรู้ลมหายใจ และอาศัยสติรู้ลมหายใจทั้งลืมตาและหลับตานั้น ไต่ไปสู่ยอดคือถึงความหลุดพ้นแห่งใจระดับอรหันต์ได้เลยทีเดียว ฉะนั้นแค่เริ่มปฏิบัติสติปัฏฐานเบื้องต้นในหมวดกาย คือรู้ลมหายใจนั้น ก็สามารถใช้เกณฑ์คือโพชฌงค์มาเป็นหลักตรวจสอบทิศทางได้แล้ว
โพชฌงค์ประกอบด้วยองค์ธรรม ๗ ประการ คือ
๑) สติ: คืออาการยกขึ้นรู้ เช่นแทนที่จะแช่จมอยู่กับความเหม่อ หรือคลุกเคล้าอยู่กับความฟุ้งซ่าน ก็มีจิตที่กำหนด หรือถามตัวเองตามจริงว่าขณะนี้กำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า
๒) ธัมมวิจัย: คืออาการวิจัยธรรมเฉพาะหน้าที่ปรากฏแก่สติ หมายความว่าไม่ใช่แค่รู้ว่าเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสอะไรแบบปุถุชนปกติ แต่รู้ในแบบเห็นเกิดดับ หรือเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนในทางใดทางหนึ่งด้วย เช่นมองว่าลมหายใจเข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องเข้า สักแต่เป็นธาตุลม ไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น
๓) วิริยะ: ความเพียรวิจัยธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อเห็นลมหายใจเกิดแล้วดับ ก็ตามเห็นความเกิดดับนั้นไม่ลดละ เท่าที่จะทำได้จนสุดความสามารถ
๔) ปีติ: ความเบิกบานใจไม่หม่นหมอง ไม่พยายามเกินกำลังจนเครียดกังวล รวมทั้งไม่มัวแต่หวังผลที่ยังมาไม่ถึงจนท้อแท้ พูดง่ายๆถ้าอยู่ที่จุดสมดุล ไม่เพ่งและไม่เผลอได้ก็จะปีติเบิกบานเอง
๕) ปัสสัทธิ: ความไม่กวัดแกว่งกายใจ เป็นธรรมชาติที่ตามมาเองเมื่อเบิกบานอยู่ในธรรม ไม่กวัดแกว่งกายคือสงบนิ่งไม่อึดอัดอยากเขยื้อนเคลื่อนไหว ไม่กวัดแกว่งใจคือคลื่นความฟุ้งหยุดตัวลง
๖) สมาธิ: ความตั้งมั่นแห่งจิต เป็นผลที่เกิดจากความระงับกายใจ มีความสุขสงบ จึงเหมือนน้ำนิ่งราบคาบไร้คลื่นลม รวมทั้งไม่มีอาการกำหนดเพ่งคับแคบลงที่จุดใดจุดหนึ่ง
๗) อุเบกขา: ความวางเฉยในจิตอันตั้งมั่นแล้ว ไม่ใช่การกำหนดวางเฉยในสิ่งที่รู้หรือเห็น ข้อนี้มักเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและทำให้ธรรมชั้นในๆเช่นจิตถูกละเลย ต่อเมื่อฉันศึกษาโพชฌงคสูตรอย่างถี่ถ้วน เห็นพุทธพจน์สำคัญคือ “วางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นแล้ว” จึงเข้าใจเสียใหม่ได้ถูกต้อง
สรุปคือฉันจะใช้โพชฌงค์เป็นตัวตรวจสอบจิตตนเองว่ากำลังดำเนินอยู่ในเส้นทางไปสู่มรรคผลหรือไม่ นับเริ่มกันตั้งแต่สติรู้ลมหายใจอันเป็นบันไดขั้นแรกของสติปัฏฐานหมวดกายเลยทีเดียว จากนั้นเมื่อก้าวขึ้นบันไดขั้นต่อๆไป ก็จะใช้เกณฑ์วิเคราะห์สภาพจิตคือโพชฌงค์นี้ตรวจสอบไปจนให้ถึงที่สุดในหมวดธรรมเลยทีเดียว